วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

บทที่1 ความหมายและความสำคัญของการท่องเที่ยว

หากกล่าวถึงคำว่า"การท่องเที่ยว" หลายคนอาจนึกถึงคำว่า การเดินทาง ไปเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ หรือเพื่อไปร่วมกิจกรรมบางอย่าง เยี่ยมเยือนญาติมิตร ไปประชุม หรือบางคนอาจจะนึกถึงชาวต่างประเทศ สะพายกระเป๋าอยู่กลางถนน นอนอาบแดดอยู่ริมชายหาด ดังนั้นจึงพบว่ากิจกรรมการเดินทางนั้น มีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับชีวิตมนุย์มาตั้งแต่สมัยโบราณ อาทิเช่น การทำสงคราม การแสวงหาสินค้า แสวงหาดินแดนใหม่ หรือเพื่อนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งการเดินทางบางอย่างยังคงปรากฎให้เห็นจนถึงปัจจุบัน


จะพบว่าการท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า การเดินทางไม่ใช่การท่องเที่ยวเสมอไป ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ควรจะรู้ความหมายของการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้อย่างมหาศาลให้แก่ประเทศ และถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก


ความหมายของการท่องเที่ยว


- การท่องเที่ยวเป็นรูปแบบหนึ่งของกิจกรรมนันทนาการ และการเดินทาง ไม่ใช่ การท่องเที่ยวเสมอไป


- มีการประชุมของสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องของการเดินทางและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี และได้ยอมรับข้อเสนอเกี่ยวกับคำจำกัดความของการท่องเที่ยวจากนักวิชาการจากจากองค์การการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ (WTO)ว่าการเดินทางที่จัดเป็นการท่องเที่ยวต้องมีลักษณะดังนี้
1. เป็นการเดินทางจากที่อยู่อาศัยปกติไปยังที่อื่นเป็นการชั่วคราว
2. เดินทางด้วยความสมัครใจ
3. ไม่ใช่เดินทางเพื่อไปประกอบอาชีพและการหารายได้
การจำแนกประเภทของผู้มาเยือน การแบ่งตามช่วงเวลาที่ใช้ไปในการไปเยือนและมีการพักค้างคืน ณ สถานที่ที่ไปเยือนนั้น แบ่งออกเป็น
นักท่องเที่ยว (Tourist)


หมายถึง ผู้ที่มาเยือนชั่วคราว ซึ่งพักอยู่ ณ สถานที่ที่ไปเยือนอย่างน้อย 24 ชั่วโมง และมีการพักค้างคืนอย่างน้อย 1 คืน แต่ไม่เกิน 1 ปี ได้แก่
-ผู้ที่ไม่มีถิ่นพำนักอยู่ในสถานที่ที่ไปเยือน
-ผู้ที่มีสัญชาติของประเทศนั้นหรือเดิมเป็นคนในถิ่นนั้น แต่ปัจจุบันไม่ได้มีถิ่นพำนักในสถานที่ที่ไปเยือนแล้ว
-ผู้ที่เป็นลูกเรือ ซึ่งไม่มีถิ่นพำนัก ณ สถานที่ที่ไปเยือน และมีการค้างคืน ณ สถานที่ที่ไปเยือน

นักทัศนาจร (Excursionist)

คือผู้มาเยือนชั่วคราว ซึ่งพักอยู่ ณ สถานที่นั้นน้อยกว่า 24 ชั่วโมง และไม่พักค้างคืน ได้แก่
-ผู้โดยสารเรือสำราญหรือเรือเดินสมุทร ซึ่งมาแวะพักชั่วคราว ไม่พักค้างคืน
-ผู้ที่มาเยือนและจากสถานที่นั้นภายในวันเดียว (same-day visitor)
-ลูกเรือ ที่ไม่ได้มีถิ่นที่อยู่อาศัย ณ สถานที่นั้นๆ และแวะพักเพียงชั่วคราว ไม่เกิน 24 ชั่วโมง
แบ่งออกเป็น
- ผู้มาเยือนขาเข้า (inbound visitor) คือผู้ที่มีถิ่นพำนักในต่างประเทศและเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศอีกครั้งหนึ่ง
- ผู้มาเยือนขาออก (outbound visitor) คือผู้ที่มีถิ่นพำนักอยู่ในประเทศหนึ่ง และเดินทางไปท่องเที่ยวที่ต่างประเทศ
- ผู้มาเยือนภายในประเทศ (domestic visitor) คือผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศที่ตนมีถิ่นพำนักอยู่
**อาจเรียก inbound visitor และ domestic visitor ว่า ผู้มาเยือนในประเทศ internal visitor ได้

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
อุตสาหกรรม หมายถึง การประกอบกิจกรรมด้วยการนำปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ได้แก่ เงินทุน แรงงาน วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร และการจัดการมารวมกันเพื่อผลิตสินค้า และบริการอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีคุณค่าต่อมนุษย์

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว หมายถึง การประกอบกิจกรรมด้วยการนำปัจจัยการผลิตต่างๆ มาผลิตบริการอย่างใดอย่างหนึ่งด้านการท่องเที่ยว ที่ก่อให้เกิดความสะดวกสบายหรือความพึงพอใจ และขายบริการด้านการท่องเที่ยวนั้นให้แก่ผู้เยี่ยมเยือน


สินค้าของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เหมือนหรือต่างจากสินค้าของอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างไร

1. เป็นสินค้าที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Goods)
สินค้าของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคือการให้ “บริการ” ผู้บริโภคหรือผู้มาเยี่ยมเยือนไม่สามารถจับต้องหรือสัมผัสได้ ผู้มาเยี่ยมเยือนเพียงแต่ได้รับความพึงพอใจจากสิ่งที่เห็นหรือสิ่งที่ได้รับเท่านั้น บุคลากรที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจึงมีความสำคัญอย่างมาก

2. เป็นสินค้าที่ไม่มีการเคลื่อนที่ไปหาผู้บริโภค
ผู้บริโภคต้องเดินทางไปซื้อสินค้าและบริการ ณ สถานที่ผลิตนั้นเอง ซึ่งหมายถึงสถานที่ที่มีทรัพยากรการท่องเที่ยวต่างๆ

3. เป็นสินค้าที่ไม่สูญสลาย
เป็นสินค้าและบริการที่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกหลายครั้ง ในบางครั้งต้องดูแลรักษาและบำรุงให้คงอยู่ในสภาพที่ดีและเสียหายน้อยที่สุด

4. เป็นสินค้าที่เปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนกรรมสิทธิ์ก็ได้
เนื่องจากสินค้าในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีหลากหลายรูปแบบ มีทั้งที่เมื่อผู้เยี่ยมเยือนได้ซื้อสินค้าแล้ว สินค้าบางประเภทมีการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ อาทิ อาหาร ของที่ระลึก เป็นต้น แต่บางประเภทเพียงแค่ได้สิทธิ์ในการใช้ หรือชม อาทิ การจ่ายค่าห้องโรงแรม ไม่ใช่การได้เป็นเจ้าของห้อง เพียงแต่ได้สิทธิ์ในการเข้าพักตามระยะเวลาที่ตกลง เมื่อเข้ามาที่น้ำตก ทะเล ภูเขา ผู้เยี่ยมเยือนไม่ได้เป็นเจ้าของน้ำตก ทะเล ภูเขา เพียงแต่ได้เข้ามาเยี่ยมชมความงดงามเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าประเภท “บริการ” อาทิ รอยยิ้ม ความช่วยเหลือ การดูแล ผู้เยี่ยมเยือนเพียงแต่ได้รับ “บริการ” เหล่านั้นในระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ไม่ได้เป็นเจ้าของ

ดังนั้นจึงสามารถจำแนกองค์ประกอบของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้ออกเป็น
-องค์ประกอบที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับนักท่องเที่ยว (องค์ประกอบหลัก)
1. สิ่งดึงดูดใจทางการท่องเที่ยว
2. ธุรกิจการคมนาคมขนส่ง
3. ธุรกิจที่พักแรม
4. ธุรกิจร้านอาหารและภัตตาคาร
5. ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์

-องค์ประกอบที่สนับสนุนกิจกรรมการท่องเที่ยว (องค์ประกอบเสริม)
1. ธุรกิจจำหน่ายสินค้าที่ระลึก
2. ธุรกิจ MICE
3. การบริการข่าวสารข้อมูล
4. การอำนวยความสะดวกทางด้านความปลอดภัย
5. การอำนวยความสะดวกในการเข้า-ออกเมือง

ประเภทการท่องเที่ยว
แบ่งตามสากล
1. การท่องเที่ยวภายในประเทศ (Domestic Tourism)
2. การท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ (Inbound Tourism)
3. การท่องเที่ยวนอกประเทศ (Outbound Tourism)

แบ่งตามลักษณะการจัดการเดินทาง
1. การท่องเที่ยวเป็นหมู่คณะ(Group Inclusive Tour: GIT)
1.1 กรุ๊ปเหมา
1.2 กรุ๊ปจัด
2 การท่องเที่ยวแบบอิสระ (Foreign Individual Tourism: FIT)

แบ่งตามวัตถุประสงค์การเดินทาง
1. เพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนานและพักผ่อน
2. เพื่อธุรกิจ
3. เพื่อวัตถุประสงค์พิเศษ

วัตถุประสงค์ของการท่องเที่ยว
มนุษย์เดินทางเพื่อการท่องเที่ยวด้วยความต้องการและเป้าหมายที่แตกต่างกันไป เช่น พักผ่อน ออกกำลังกาย/เล่นกีฬา เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรม ช้อปปิ้ง เป็นต้น
แบ่งเป็นหลักใหญ่ๆดังนี้
การท่องเที่ยวเพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนานและพักผ่อน (Holiday)




ความเพลิดเพลิน สนุกสนาน เป็นจุดมุ่งหมายหลักของการท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวมีวันหยุดที่จำกัด ดังนั้นจึงพยายามไม่เอาหน้าที่การงาน ความจำเจของชีวิตประจำวันมาเกี่ยวข้อง การเดินทางไปอาบแดด เล่นน้ำตก สวนสนุก เป็นต้น การเดินทางไปเยี่ยมเพื่อนญาติมิตร (Visiting Friends and Relatives: VFR)

การท่องเที่ยวเพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ (Business) แม้ว่าการท่องเที่ยวทางธุรกิจดูเหมือนจะมีจุดมุ่งหมายในการทำงาน แต่การทำงานนั้นเป็นเพียงกระบวนการในการสร้างรายได้ในอนาคต อาทิ การติดต่อทางการค้า การประชุม เป็นต้น แบ่งออกเป็น
- การเดินทางเพื่อธุรกิจโดยทั่วไป
- การเดินทางเพื่อการประชุม การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และจัดแสดงนิทรรศการนานาชาติ ( MICE )
** Mice กำลังเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน

การท่องเที่ยวเพื่อความสนใจพิเศษ (Special Interest Tourism)


เป็นการตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวในระดับที่ซับซ้อนมากขึ้น จากแค่เพียงต้องการพักผ่อน เพลิดเพลิน นักท่องเที่ยวต้องการที่จะเรียนรู้วัฒนธรรม ประเพณี ธรรมชาติ ในระดับที่ลึก เป็นต้น


รูปแบบของการท่องเที่ยวเพื่อความสนใจพิเศษ
การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

การท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม
เป็นการท่องเที่ยวเพื่อต้องการศึกษาวัฒนธรรมของประเทศหรือสถานที่ที่ตนเองไปเยี่ยมเยือน เพราะวัฒนธรรมเหล่านั้นมีความแตกต่างไปจากวัฒนธรรมของตนเอง ซึ่งโดยส่วนมากมักจะเป็นสิ่งที่จับต้องได้ มองเห็น เป็นวัตถุหรือเป็นการแสดง เช่น ชมตลาดน้ำ ชมการรำไทย มวยไทย การชมวัด ชมวัง อุทยานประวัติศาสตร์ เป็นต้น

นาฎศิลป์ไทย

มวยไทย


การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและกีฬา
จุดมุ่งหมายเพื่อบำบัดโรค บำรุงสุขภาพกายและใจ อาจแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่
- การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health Tourism)



- การท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sport Tourism)



- การท่องเที่ยวเชิงผจญภัย (Adventure Tourism)


การท่องเที่ยวเพื่อการศึกษา
เป็นการท่องเที่ยวเพื่อต้องการเรียนรู้ โดยมีการจัดการ การวางแผนล่วงหน้า มีครูผู้สอนที่ชำนาญ และมีการฝึกหัดทำตามแบบแผน ซึ่งจะเน้นที่การเรียนรู้จากประสบการณ์จริง อาทิ การเรียนทำอาหารไทย การเรียนรำไทย การเรียนภาษาไทย การดูดาว การเรียนดำน้ำ ฯลฯ

การท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์
เป็นการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวมีจุดมุ่งหมายที่ต้องการเข้าไปสัมผัสกับวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ วัฒนธรรม ประเพณีของกลุ่มคนต่างๆ โดยตรงเพื่อให้มีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น มิใช่ผ่านวัตถุหรือการแสดงที่จัดขึ้น อาทิ การเยี่ยมชมหรือพำนักกับชาวไทยภูเขา ชาวบ้านพื้นเมือง Home stay ฯลฯ

ความสำคัญของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
ทางเศรษฐกิจ


-เป็นแหล่งที่มาของเงินตราต่างประเทศ
-ช่วยลดปัญหาการขาดดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ
-ช่วยสร้างอาชีพและการจ้างงาน
-ช่วยให้เกิดการกระจายรายได้
-ช่วยกระตุ้นให้เกิดการผลิตทางเศรษฐกิจ

ทางสังคมและวัฒนธรรม


-ช่วยยกมาตรฐานการครองชีพของคนในท้องถิ่น
-ช่วยสร้างสรรค์ความเจริญให้แก่สังคม
-ช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม
-ช่วยก่อให้เกิดประโยชน์ทางการศึกษา
-ช่วยลดปัญหาความแออัดในเมืองหลวง
-ช่วยเกิดให้เกิดการนำทรัพยากรที่ไร้ค่าในท้องถิ่นมาสร้างมูลค่า

ทางด้านการเมือง


-ช่วยสร้างสันติภาพและความสามัคคี
-ช่วยส่งเสริมความมั่นคงและภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศ

ที่มาจาก :
- หนังสือเอกสารคำสอนวิชาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ม. ธุรกิจบัณฑิตย์
- Power Point อ. พิทยะ ศรีวัฒนสาร


วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

395 ปี บันทึกของปินโต : หลักฐานประวัติศาสตร์นิพนธ์หรือนิยายผจญภัย

โดย: อ.พิทยะ ศรีวัฒนสาร

บันทึกความทรงจำของแฟร์เนา เมนเดซ ปินโต( Fernão Mendez Pinto ค.ศ.1509-1583)เป็นเรื่องเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และเหตุการณ์บ้านเมืองต่างๆ รวมทั้งอัตชีวประวัติของเขาอย่างน่าตื่นเต้นและเหลือเชื่อ จนมีการใช้ชื่อของปินโตเล่นคำเชิงล้อเลียนว่าพูดจริงหรือเท็จอย่างสนุกสนานโดยชนชาติศัตรูของโปรตุเกสในยุโรปหรือแม้แต่ชาวโปรตุเกสบางคน บันทึกของปินโตถูกอ้างอิงจากนักประวัติศาสตร์ไทยอย่างกว้างขวางนับตั้งแต่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพมาจนปัจจุบันเมื่อกล่าวถึงบทบาทของทหารรักษาพระองค์ชาวโปรตุเกส และการพระราชทานที่ดินให้พวกเขาตั้งถิ่นฐานและปฏิบัติศาสนพิธีในสมัยอยุธยา จึงเป็นที่มาของการตรวจสอบว่าหนังสือฉบับนี้มีสถานะเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์นิพนธ์หรือเป็นเพียงนิยายผจญภัย


“Pérégrinação หรือ Pérégrinaçam” แปลว่า “long tour,long travels” ตรงกับคำว่า “Peregrination“ หรือ “Pilgrimage” หมายถึง การเดินทางการท่องเที่ยว หรือการเดินทางแสวงบุญ
เมื่อแบร์นารด์ ฟิกูอิเยร์(Bernard Figuier) แปลงานเขียนของปินโตเป็นภาษาฝรั่งเศสในค.ศ. 1628 เขาใช้ชื่อ ว่า “les voyages adventureux de fernando mendez pinto 1537-1558” และมีชื่อภาษาอังกฤษโดยการแปลของเฮนรี โคแกนว่า “The Voyages and Adventures of Fernand Mendez Pinto” (1653)
อย่างไรก็ดี นักประวัติศาสตร์และผู้อ่านจำนวนไม่น้อยกลับมีความสงสัยต่อความเก่งกล้าสามารถของปินโต บางคนประนามว่างานเขียนของเขาเป็นเรื่องโกหกเพื่อความมีชื่อเสียงของตน แม้แต่ชาวโปรตุเกสเองก็ยังนำชื่อของเขาไปล้อเลียนว่า “ Fernâo , Mendez? Pinto!(Fernâo, do you lie? Yes, I lie!
” ทั้งๆที่ปินโตไม่เคยระบุว่า “Pérégrinação” เป็นนิยายประโลมโลก ( Fiction) แต่กลับบอกว่า บันทึกของเขาเปรียบเป็น “ตำรา”ในการสำรวจดินแดนและการเดินเรือไปยังดินแดนต่างๆในโลกตะวันออก ผู้เขียนจึงได้เสนอแนวทางศึกษาเพื่อชี้ให้เห็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของบันทึกฉบับนี้

ประวัติของปินโต


ปินโตเป็นชาวเมืองมองเตอมูร์เก่า (Montemor-o-velho) ใกล้เมืองกูอิงบรา (Coinbre) ในราชอาณาจักรโปรตุเกส ปินโตเกิดในครอบครัวยากจนระหว่างค.ศ. 1509-1512 เมื่ออายุประมาณ 10 หรือ 12 ขวบจึงต้องเป็นเด็กรับใช้ของสุภาพสตรีผู้หนึ่ง ในค.ศ. 1523 ชีวิตของเขาตกอยู่ในอันตรายจนต้องหลบหนีลงเรือจากเมืองกูแอ ดึ แปดรา (Cue de Pedra) การผจญภัยของปินโตเริ่มขึ้นเมื่อเดินทางไปถึงเมืองดิว (Diu) ในอินเดียในค.ศ.1538 ขณะมีอายุได้ 28 ปี เขาเดินทางกลับมาตุภูมิเมื่อวันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1558 รวมเป็นเวลา 21 ปีของการแสวงโชคในเอเชีย ปินโตเคยเดินทางไปในเอธิโอเปีย จีน อาณาจักรของชาวตาร์ตาร์ (Tataria) โคชินไชนา สยาม พะโค ญี่ปุ่น และหมู่เกาะอินเดียตะวันออกในน่านน้ำอินโดนีเซียปัจจุบัน


ปินโตเคยเผชิญปัญหาเรืออับปาง 5 ครั้ง ถูกขาย 16 ครั้งและถูกจับเป็นทาสถึง 13 ครั้ง ชีวิตในเอเชียของปินโตเคยผ่านการเป็นทั้งกลาสีเรือ ทหาร พ่อค้า ทูตและนักสอนศาสนา (missionary) เมื่อเดินทางกลับไปถึงโปรตุเกสในปีค.ศ.1558 เขาจึงพยายามติดต่อขอรับพระราชทานบำเหน็จรางวัล เนื่องจากได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อชาติและศาสนาอย่างเต็มที่ แต่กลับไม่ได้รับความสนใจจากราชสำนัก ปินโตจึงไปใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองปรากัลป์ (Pragal) ใกล้เมืองอัลมาดา (Almada) ทางใต้ของโปรตุเกส ปินโตเขียนหนังสือชื่อ “Pérégrinação”ขึ้น และถูกตีพิมพ์หลังจากเขาถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1583


ปินโตเคยเดินทางเข้าสยาม 2 ครั้ง ครั้งแรกเข้ามาในปัตตานีและนครศรีธรรมราชก่อนค.ศ.1548 ครั้งที่ 2 เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ค.ศ.1534-1546) นักประวัติศาสตร์บางคนนำหลักฐานของฝ่ายไทยเข้าไปตรวจสอบความน่าเชื่อถือในเอกสารของเขาหลายประเด็น และชี้ให้เห็นความคลาดเคลื่อนของศักราชที่เขาอ้างถึง


หลังจากปินโตถึงแก่กรรม บุตรีของเขาได้มอบต้นฉบับหนังสือเรื่อง “Pérégrinação” ให้แก่นักบวชสำนักหนึ่งแห่งกรุงลิสบอน ต่อมากษัตริย์ฟิลิปที่ 1 (Philip I of Portugal,1581-1598 และทรงเป็นกษัตริย์ฟิลิปที่ 2 แห่งสเปน - Philip II of Spain,1556-1598) ทรงได้ทอดพระเนตรงานนิพนธ์ชิ้นนี้ บุตรีของปินโตจึงได้รับพระราชทานบำเหน็จรางวัลแทนบิดา


งานเขียนของปินโตตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1614 และแปลเป็นภาษาต่างๆ อาทิ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาอังกฤษ ใน ค.ศ.1983 กรมศิลปากรได้เผยแพร่บันทึกของปินโตบางส่วนในชื่อ “การท่องเที่ยวผจญภัยของแฟร์นังด์ มังเดซ ปินโต ค.ศ1537-1558” แปลโดยสันต์ ท. โกมลบุตร ต่อมากรมศิลปากรร่วมกับกรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการได้ตีพิมพ์ผลงานบางส่วนของเขาออกเผยแพร่อีกครั้งใน ค.ศ.1988 โดยแปลจากหนังสือชื่อ “Thailand and Portugal : 470 Years of Friendship”


รูปแบบการนำเสนอ


งานเขียนของปินโตถูกนำเสนอในรูปของร้อยแก้ว บางตอนก็ระบุว่าเรื่องที่ได้ยินได้ฟังมาจากคำบอกเล่าและการสอบถามผู้รู้ อาทิ เหตุการณ์เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จสวรรคต บางตอนก็ระบุว่าเป็นผู้มีประสบการณ์ด้วยตนเอง เช่น เหตุการณ์เดินทางเข้ามายังสยาม 2 ครั้ง เป็นต้น


ปินโตระบุว่า การเล่าเรื่องการเดินทางของเขามีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มีการเรียนรู้สภาพภูมิศาสตร์ของโลกให้มากยิ่งขึ้น มิได้มีจุดประสงค์ที่จะก่อให้เกิดความท้อถอยในการติดต่อกับดินแดนแถบเอเชีย เขาระบุว่าอุทิศการทำงานให้แก่พระเจ้ามิได้หวังชื่อเสียง *สิ่งที่ผลักดันให้เขาเดินทางไปยังตะวันออก คือ ธรรมชาติของลูกผู้ชาย เขาแสดงความขอบคุณพระเจ้าและสวรรค์ที่ช่วยให้รอดพ้นจากภยันตรายมาได้ ส่วนเฮนรี โคแกนระบุว่า จุดมุ่งหมายในการแปลหนังสือ“Pérégrinação” จากภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาอังกฤษ คือ ต้องการให้ผู้อ่านทั่วไปเกิดความพึงพอใจและกระตุ้นให้มีการสำรวจและค้นคว้าทางภูมิศาสตร์ เพื่อเป็นบทเรียนให้สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาเรืออับปาง เพื่อทัศนศึกษาดินแดนต่างๆในโลกกว้างและเพื่อเรียนรู้เรื่องราวของ“คนป่าเถื่อน”


จุดมุ่งหมายที่จริงจังของทั้งปินโตและโคแกนสะท้อนให้เห็นคุณค่าของเหตุการณ์ สถานที่ ทรัพยากร อารมณ์ ความรู้สึกและวัฒนธรรมอันหลากหลายของผู้คนที่ปรากฏในหนังสือ “Pérégrinação” อย่างไม่อาจมองข้ามได้ งานของปินโตจึงได้รับการอ้างอิงอย่างกว้างขวาง อย่างน้อยๆฉบับแปลภาษาฝรั่งเศสในปีค.ศ.1628 ก็ถูกอ้างอิงโดยซิมอง เดอ ลาลูแบร์ (Simon de Laloubère) ซึ่งเดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อกล่าวถึงจำนวนเรือที่เข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยาก่อนหน้าการเข้ามาของตน ซึ่งเป็นที่น่าสงสัยว่าหากลาลูแบร์เคยได้ยินการเสียดสีงานเขียนของปินโตมาบ้างก่อนที่จะเดินทางเข้ามาสยาม เขาควรจะได้ตรวจสอบข้อมูลและหลักฐานจากผู้รู้พื้นเมืองชาวสยามอีกครั้ง ก่อนจะตีพิมพ์งานเขียนของตนที่กรุงอัมสเตอร์ดัมในปีค.ศ.1714 เพราะงานเขียนของปินโตเคยถูกล้อเลียนมาแล้วอย่างอื้อฉาว แต่กลับไม่ปรากฏข้อวิพากษ์ความน่าเชื่อถือของปินโตในงานของลาลูแบร์


คุณค่าทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับราชอาณาจักรสยาม


บันทึกของปินโตนับเป็นเอกสารสำคัญที่กล่าวถึงเรื่องราวส่วนหนึ่งเกี่ยวกับทรัพยากร การทหาร วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ กฎหมายและเรื่องราวในราชสำนักสยามกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 และมักจะถูกอ้างอิงเสมอเมื่อกล่าวถึงบทบาททางการทหารของชุมชนโปรตุเกสในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ค.ศ.1543-1546) เมื่อเกิดศึกระหว่างสยามกับเชียงใหม่ขึ้นใน ค.ศ.1548 (พ.ศ.2091) ปินโต กล่าวว่า


“ชาวต่างประเทศทุกๆชาติที่ไปร่วมรบกับกษัตริย์สยามนั้นต่างก็ได้รับคำมั่น
สัญญาว่าจะได้รับบำเหน็จรางวัล การยกย่อง ผลประโยชน์ ความชื่นชมและเกียรติยศชื่อเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะได้รับอนุญาตให้สร้างโบสถ์เพื่อการปฏิบัติศาสนกิจในแผ่นดินสยามได้....”


การเข้าร่วมรบในกองทัพสยามครั้งนั้นเป็นการถูกเกณฑ์ หากไม่เข้าร่วมรบก็จะถูกขับออกไปภายใน 3 วัน ด้วยเหตุนี้จึงมีชาวโปรตุเกสถึง 120 คน จากจำนวน 130 คน อาสาเข้าร่วมรบในกองทัพสยามเหตุการณ์ดังกล่าวถูกบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่าเป็นศึกเมืองเชียงกรานซึ่งเกิดขึ้นในค.ศ.1538 (พ.ศ.2081) คลาดเคลื่อนไปจากที่ระบุในหลักฐานของปินโต 10 ปี แม้ว่าสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพจะทรงอ้างจากหนังสือของปินโตก็ตาม


เรื่องราวในหนังสือ Pérégrinação สอดคล้องกับงานเขียนของนักประวัติศาสตร์ชาวโปรตุเกสหลายคน อาทิ การกล่าวถึง โดมิงกุส ดึ ไซซัส (Domingos de Seisus) ซึ่งเคยถูกจองจำและรับราชการเป็นนายทหารในกรุงศรีอยุธยา ก็ได้รับการยืนยันในงานเขียนของจูอาว เดอ บารอส (João de Baros) เช่นกัน เป็นต้น นอกจากนี้ อี.ดับเบิลยู. ฮัทชินสัน(E.W. Hutchinson) ก็อ้างตามหลักฐานของปินโตว่า


“ทหารโปรตุเกสจำนวน 120 คนซึ่งสมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงจ้างเป็นทหารรักษา
พระองค์(bodyguards)ได้สอนให้ชาวสยามรู้จักใช้ปืนใหญ่”


ดร.เจากิง ดึ กัมปุชชี้ว่า บทบาทของทหารอาสาชาวโปรตุเกสในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชอาจส่งผลให้มีการเริ่มปรับปรุงตำราพิชัยสงครามภายใต้การช่วยเหลือของที่ปรึกษาชาวโปรตุเกส จนเป็นที่มาของการตั้ง “กรมทหารฝารั่งแม่นปืน” ใน หนังสือ“ศักดินาทหารหัวเมือง” ซึ่งประกอบด้วยทหารเชื้อสายโปรตุเกสจำนวน 170 นาย จนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ใกล้เคียงกับจำนวนของทหารอาสาโปรตุเกส 120 คน ในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช


“ศักดินาทหารหัวเมือง” เป็นเอกสารฉบับหลวงมีตรา 3 ดวงประทับ หอสมุดแห่งชาติได้มาจากกรมมุรธาธร เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2467 เป็นหลักฐานจำแนกโครงสร้างราชการและศักดินาในสังกัดสมุหพระกลาโหม ได้แก่ กรมอาษา กรมเขนทอง กรมทวนทอง กรมพระตำรวจ กรมสนมทหาร กรมพลพัน กรมทนายเลือก กรมรักษาพระองค์ กรมอาษาญี่ปุ่น กรมอาษาฝารั่ง ฯลฯ เคยตีพิมพ์เผยแพร่หลายครั้ง ล่าสุดตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือกฎหมายตราสามโดยราชบัณฑิตยสถานเมื่อพ.ศ.2550

ความน่าเชื่อถือ หนังสือของปินโตถูกตีพิมพ์เผยแพร่อย่างกว้างขวางในยุโรป จึงเป็นเหตุให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง วิลเลียม คอนเกรฟ (William Congreve, 1670-1729) นักเขียนบทละครชาวอังกฤษได้แทรกบทกวีในบทละครชื่อ “Love for Love” (ค.ศ.1695) เยาะเย้ยว่า “Mendez Pinto was but a type of thee, thou liar of the first magnitude.” (กรมศิลปากร, 2526 : 42 ) เซอร์ ริชาร์ด เบอร์ตัน ( Sir Richard Burton) ในงานเขียนชื่อ “The Third Voyage of Sinbad, the Sailor” ระบุว่า การผจญภัยของปินโตมีลักษณะคล้ายกับเรื่องราวในนิยายอาหรับและตั้งฉายาเขาว่า “ซินแบดแห่งโปรตุเกส” ดับเบิลยู. เอ.อาร์. วูด (W.A.R. Wood) ชี้ว่าควรจะอ่านงานเขียนของปินโตในฐานะที่เป็นเรื่องราวของชายชราที่ได้เดินทางกลับไปสู่มาตุภูมิอีกครั้งหนึ่งเพื่อความบันเทิง มิใช่เป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ที่เขียนขึ้นวันต่อวัน และตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความแม่นยำของปีศักราชในบันทึกชิ้นนี้ด้วย


อย่างไรก็ดี ดึ กัมปุช อดีตกงสุลใหญ่โปรตุเกสเมื่อค.ศ.1936 กลับชี้ว่าหลักฐานของปินโตแสดงให้เห็นว่าเขาเคยเดินทางเข้ามายังสยามจริง และสิ่งที่สนับสนุนความน่าเชื่อถือในงานของปินโต คือ การยกงานเขียนในชั้นหลังๆมาเทียบเคียงความเป็นไปได้และความถูกต้องของเรื่องราวโดยเฮนรี โคแกน

นักประวัติศาสตร์ไทยหลายคนเลือกใช้ข้อมูลของปินโตมาอ้างอิงโดยตลอด อาทิ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา มานพ ถาวรวัฒน์สกุลในเรื่องขุนนางอยุธยา(2536) อ้างเรื่องยศขุนนางสมัยอยุธยาตอนกลาง สุเนตร ชุตินทรานนท์ในเรื่องบุเรงนองกะยอดินนรธา(2538) ก็อ้างเอกสารของปินโตซึ่งระบุตรงกับราล์ฟ ฟิตซ์ (Ralph Fitch)ว่า พระเจ้าบุเรงนองนำเอาเรื่องการขอช้างเผือกมาเป็นสาเหตุของสงครามระหว่างสยามกับพม่าใน ค.ศ.1569 เป็นต้น


งานเขียนปินโตบางส่วนมีรูปแบบเป็นจดหมายติดต่อกับบุคคล ดังนั้นจึงไม่ควรมองข้ามความแม่นยำของเวลา (Timing) ที่ระบุในบันทึกของเขา และปินโตยังยืนยันว่าเขาได้รับจดหมายฝากฝัง (recommended letter) จากผู้สำเร็จราชการโปรตุเกสแห่งเมืองกัว (Goa) เพื่อให้ได้เข้าเฝ้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระราชินีแคเธอรีนแห่งโปรตุเกส แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการอ้างอิงพยานบุคคลของเขา หนังสือ “ Pérégrinação ” ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสยามน้อยมาก ซึ่งอาจจะอธิบายได้ว่าตอนกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 ศูนย์กลางของโปรตุเกสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งอยู่ที่คำแนะนำองค์ปาฐกของ มร.อี.จี. เซบัสเตียน(E.G.Sebastian) ในบทความชื่อ “Fernão Mendez Pinto’s Account of Events in Siam” ( Journal of The Siam Society Volume VII, 1959, p.196 ) ของดับเบิลยู. เอ. อาร์. วูด ( W.A.R. Wood )มะละกา ปินโตจึงให้ความสำคัญต่อมะละกามากกว่ากรุงศรีอยุธยา การที่ราชสำนักโปรตุเกสสนใจดินแดนทางใต้ของพม่าและชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของจีนก็น่าจะมีผลต่อโครงเรื่องของปินโตเช่นกัน การที่เขามีฐานะเป็นเพียงกลาสีเรือ นักผจญภัย แสวงโชค มิใช่บุตรขุนนางหรือนักการทูต มิใช่พ่อค้าหรือนายทหารที่ถูกส่งเข้ามาติดต่อกับสยามโดยตรง ทำให้เนื้อหาส่วนใหญ่ในหนังสือของเขาเน้นกล่าวถึงสถานที่ต่างๆตามชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิกที่เขาเคยเดินทางไปถึงมากกว่า

หลักฐานของปินโตกับปัญหาในการศึกษาชุมชนโปรตุเกสสมัยอยุธยา

หากนักเรียนประวัติศาสตร์คนใดจะนำงานเขียนของปินโตมาใช้ในการตรวจสอบเรื่องราวเกี่ยวกับตำแหน่งหัวหน้าค่ายโปรตุเกส ความสัมพันธ์ของคนภายในค่าย ความสัมพันธ์ระหว่างค่ายโปรตุเกสกับราชสำนักอยุธยา ความสัมพันธ์ระหว่างค่ายโปรตุเกสกับมะละกา กัว มาเก๊า และราชอาณาจักรโปรตุเกส รวมไปถึงอาชีพ จำนวนคนและความเป็นอยู่ในค่ายโปรตุเกสสมัยอยุธยา ก็อาจจะต้องใช้ความพยายามในการศึกษาและวิเคราะห์หลักฐานชิ้นนี้มากพอสมควร ปินโตระบุว่านักสอนศาสนาก็จำเป็นต้องเผยแพร่ศาสนาภายใต้นโยบายของราชสำนักหรือผู้สำเร็จราชการโปรตุเกสแห่งเมืองกัวเช่นเดียวกับข้าราชการทั่วไป เมื่อนักบุญฟรานซิส ซาเวียร์(St. Francis Xavier)จะออกไปเผยแพร่ศาสนาในญี่ปุ่น ท่านก็ต้องเดินทางจากมะละกาไปยังกัว เพื่อรับฟังนโยบายของผู้สำเร็จราชการโปรตุเกสแห่งอินเดียเสียก่อน (กรมศิลปากร, 2526 : 35) การที่ปินโตเคยเป็นทูตของข้าหลวงโปรตุเกสแห่งมะละกาไปยังรัฐต่างๆในภูมิภาคแถบนี้ อีกทั้งยังเคยเป็นทหารและนักสอนศาสนาของโปรตุเกสด้วย เขาจึงน่าจะเป็นบุคคลที่มีเกียรติพอที่จะได้รับความเชื่อถือจากผู้มีฐานะเป็นศัตรูชาติโปรตุเกสในยุโรปหรือแม้แต่ชาวโปรตุเกสบางคน แต่เขาก็ไม่เคยถูกนักประวัติศาสตร์โปรตุเกส อาทิ ดูอาร์ตึ บาร์บูซา(Duarte Barbosa) จูอาว ดึ บารอส(João de Baros )และคาสปาร์ คอร์รีอา(Caspar Correa)เสียดสีเลยแม้แต่น้อย
การกล่าวว่ากองทัพพม่านำกระบือและแรดมาลากปืนใหญ่เพื่อทำสงครามกับสยามในฉบับแปลของโคแกน ทำให้วูด(Wood)ชี้ว่างานเขียนของปินโต “เป็นหลักฐานเชิงจินตนาการ” ข้อเสนอของวูดอาจทำให้นักเรียนประวัติศาสตร์เห็นคล้อยไปกับคอนเกรฟที่ระบุว่า ปินโตเป็นคนขี้ปด โชคดีที่ ดร. เจากิง ดึ กัมปุชแย้งว่า ปินโตไม่เคยระบุคำว่า “แรด” ในงานเขียน คำศัพท์ที่เขาใช้ คือ คำว่า “bada หรือ abada”นั้น ในคริสต์ศตวรรษที่16 หมายถึง สัตว์ป่า หรือ สัตว์เลี้ยงที่กลายเป็นสัตว์ป่า แม้ว่าจะมีนักเขียนบางคน เช่น บาทหลวง กาสปาร์ ดึ ครูซ (Fr. Gaspar de Cruz) จะใช้คำดังกล่าวเรียกแรดก็ตาม ส่วนบาร์โบซา (Duarte Barbosa) จูอาว ดึ บารอส (João de Baros ) และ คาสปาร์ คอร์รีอา (Caspar Correa) ต่างก็ใช้คำว่า “ganda” ซึ่งมาจากรากศัพท์ภาษาสันสกฤตเมื่อกล่าวถึงแรด ขณะที่นักรวบรวมพจนานุกรม ชื่อ บลูโต (Bluteau, 1727) แปลคำว่า “abada คือ สัตว์ป่าชนิดหนึ่ง” ซึ่งถือเป็นหลักฐานสำคัญในการโต้แย้งประเด็นที่มีการแปล “abada” ว่า “แรด” (Campos, 1959 : 228) แม้ในภาษามาเลย์จะมีคำว่า “badâk” แปลว่า “แรด” แต่ในภาษาอาหรับก็มีคำว่า “abadat” หมายถึง “สัตว์ที่มีรูปร่างเป็นสีน้ำตาล” หรือ “สัตว์ป่า” หรือ “สัตว์เลี้ยงที่หลบหนีไปจนกลายเป็นสัตว์ป่า” ดึ กัมปุช ระบุว่า คำว่า “abada” ถูกแปลว่า “แรด” ในคริสต์ศตวรรษที่17 ดังนั้น “abada” ในบันทึกของปินโตจึงถูก ฟิกูอิเยร์และโคแกนแปลว่า “แรด” ในเวลาต่อมา ปินโตจะใช้คำว่า “abada” เมื่อกล่าวถึง “จามรี(yaks)” ซึ่งเป็นสัตว์ต่าง (beast of burden) ในตาตาเรีย (Tataria) เพราะไม่มีศัพท์ดังกล่าวในภาษาโปรตุเกส และใช้คำภาษาอาหรับว่า “abida” ในที่อื่นๆอีกร่วม12ครั้งเมื่อกล่าวถึงสัตว์ใหญ่คล้ายแรดหรือสัตว์ต่างชนิดอื่นซึ่งไม่อาจหาคำมาใช้แทนได้


สรุป
ผู้เขียนเห็นว่างานนิพนธ์ของปินโตมีคุณค่าในทางประวัติศาสตร์มากกว่าจะถูกมองว่าเป็นเพียงวรรณกรรมประโลมโลกหรือนิยายผจญภัยของกลาสีเรือ แม้เนื้อหาบางตอนจะดูตื่นเต้นเร้าใจเกินกว่าจะมีความสมจริงตามทัศนะของนักประวัติศาสตร์ แต่ในสภาวะที่ยุโรปเพิ่งจะพ้นจากยุคแห่งการจุดไฟเผาหญิงสาวที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดและยังคงเคร่งต่อจริยธรรมทางศาสนา มีใครบ้างที่จะกล้าเปิดเผยต่อสาธารณชนว่าตนเองเคยรับประทานเนื้อมนุษย์เพื่อประทังชีวิตกลางทะเลหลังจากถูกโจรสลัดโจมตี ข้อถกเถียงในงานของปินโตอาจจะมีอยู่ไม่น้อย แต่มีหลักฐานประวัติศาสตร์ชิ้นใดบ้างที่ปราศจากคำถามและความเคลือบแคลง งานของปินโตถูกตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความแม่นยำของศักราชก็เพราะบันทึกของเขาเป็นเอกสารที่เขียนขึ้นจากความทรงจำเมื่อเขาเดินทางกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในโปรตุเกสระยะหนึ่งแล้ว
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐฯ เคยได้รับความเชื่อถือเป็นอย่างยิ่งว่ามีความแม่นยำในเรื่องศักราชและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ (นิธิ, 2525 : 65) แต่ต่อมานักประวัติศาสตร์บางท่านก็เคยตั้งข้อสงสัยต่อสถานภาพดังกล่าว (นิธิ, 2525 : 6) ซึ่งถือเป็นความไม่เที่ยงของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ในทางกลับกันอาจจะมีผู้ใช้บันทึกของปินโตมาตรวจสอบความแม่นยำของเอกสารฉบับใดฉบับหนึ่งอย่างจริงจังในอนาคตบ้างก็ได้

จากข้อมูลในบทความเรื่อง395 ปี บันทึกของปินโต : หลักฐานประวัติศาสตร์นิพนธ์หรือนิยายผจญภัย ข้าพเจ้ามีความคิดเห็นว่าบทความเรื่องนี้ เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ไม่ได้เป็นแค่เพียงนิยายผจญภัย เนื่องจาก มีการบ่งบอกช่วงเวลา สถานที่ และตัวบุคคลไว้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับความเป็นมาของประวัติศาสตร์ชาติไทย ทำให้สามารถเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งในการพิจารณาเหตุการณ์ต่างที่เกิดขึ้นในอดีตได้เป็นอย่างดี


ข้อมูลจาก:

นิธิ เอียวศรีวงศ์. 2523. ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา.
นิธิ เอียวศรีวงศ์และอาคม พัฒิยะ. 2525. หลักฐานประวัติศาสตร์ในประเทศไทย.
มานพ ถาวรวัฒน์สกุล. 2536. ขุนนางอยุธยา.
ราชบัณฑิตยสถาน. 2550. กฎหมายตราสามดวงฉบับราชบัณฑิตยสถานเล่ม1.
วิชาการ. กรม . 2531. 470 ปีสัมพันธไมตรีระหว่างไทยและโปรตุเกส.
ศิลปากร. กรม. 2536. การท่องเที่ยวผจญภัยของแฟร์นังด์ มังเดซ ปินโต ค.ศ.1537-1558.
สันต์ ท. โกมลบุตร(แปล). 2510.จดหมายเหตุลาลูแบร์ฉบับสมบูรณ์ เล่ม 1.
สุเนตร ชุตินทรานนท์. 2538. บุเรงนองกะยอดินนรธา.
Campos, Joaquim de. 1959. “Early Portuguese accounts of Thailand” Journal of The Siam
Society Volume VII.
Cogan, Henry. trans. 1653. The Voyages and Adventures of Fernand Mendez Pinto.
Collins, The. 1987. English Portuguese Portuguese English Dictionary.
Hutchinson, E.W. 1940. Adventurers in Siam in the Seventeen Century.
Wood, W.A.R. 1959 . “Fernão Mendez Pinto’s Account of Events in Siam” Journal of The
Siam Society Volume VII.


วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การเดินทางท่องเที่ยวสู่ตลาดน้ำอโยธยา

สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญในประเทศไทยนั้น มีหลากหลายแห่งที่มีความน่าสนใจมากมาย ซึ่งแต่ละแห่งนั้น มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ และสะท้อนให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของสังคมไทยในสมัยนั้นๆได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้น ยังแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในสมัยโบราณ รวมไปถึงการประกอบอาชีพ ศาสนาและความเชื่อต่างๆ และในสถานที่แห่งนี้ ก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่เราจะได้สัมผัสกับกลิ่นอายของความเป็นไทยอย่างเต็มที่ บ้านเรือน สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ หรือแม้แต่ผู้คนที่อาศัยอยู่ ณ ที่แห่งนี้ ล้วนแต่สร้างบรรยากาศให้เราได้รำลึกถึงสังคมไทยในสมัยโบราณ มีการแสดงออกถึงวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามอันเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นไทย เราสามารถสัมผัสบรรยากาศแห่งความทรงจำเหล่านี้ได้ืที่ "ตลาดน้ำอโยธยา"

“ตลาดน้ำหมู่บ้านปางช้างอโยธยา”

ตลาดน้ำที่ใหญ่ที่สุดในอยุธยา


หากกล่าวถึงตลาดน้ำที่พึ่งเปิดขึ้นใหม่อย่างเป็นทางการนั้น เชื่อว่าทุกคนคงต้องนึกถึง ตลาดน้ำอโยธยา หรือ ตลาดน้ำหมู่บ้านช้างอโยธยา อย่างแน่นอน หากย้อนยุคไปถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา การสัญจรทำการค้าขายส่วนใหญ่ก็มักเป็นทางน้ำ จึงไม่แปลกใจนักที่ตลาดน้ำนั้นมีความสำคัญคู่กับวิถีของคนไทยมาอย่างช้านาน

ส่วนการเดินทางไปตลาดน้ำอโยธยานั้น พวกเราได้เลือกวิธีที่ง่ายและประหยัดที่สุด นั้นก็คือการเดินทางโดยรถไฟ โดยมีค่าบริการไป-กลับเพียง 40 บาทเท่านั้น ใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่งก็ถึงสถานีปลายทางจังหวัดอยุธยา นอกจากนั้น ยังมีอีกหนึ่งบริการที่สร้างความสะดวกในทางเดินทางให้กับนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก นั้นก็คือ"บริการรถรับส่งขนาดเล็ก"ซึ่งรถคันนี้ จะบริการรับส่งนักท่องเที่ยวตั้งแต่เดินออกสถานีรถไฟไปยังสถานที่ต่างๆภายในจังหวัดอยุธยา ไปทุกสถานที่ตามที่นักท่องเที่ยวต้องการ ค่าบริการต่อคนเพียงคนละ 150 บาท นับว่าคุ้มค่ามากทีเดียวกับการเดินทางท่องเที่ยวภายในจังหวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เช่นนี้


ตลาดน้ำอโยธยา ตั้งอยู่ที่ 65/12 หมู่ 7 ตำบลไผ่ลิง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไม่ไกลจากกรุงเทพฯมากนัก โดยภายในตลาดเราจะพบกับอาคารบ้านเรือนแบบเรือนไทยที่ตั้งอยู่ริมสองฝั่งคลอง มีการแสดงถึงวิถีชีวิตของผู้คนริมน้ำ อาทิการวางสะดุ้งจับปลา การพายเรือขายผักปลา และอาหารต่างๆ ซึ่งแต่ละอย่างราคาก็ย่อมเยาไม่แพงอย่างที่คิด


การวางสะดุ้งจับปลา


บรรยากาศภายในตลาดน้ำอโยธยา




บริการล่องเรือชมรอบๆบริเวณตลาดน้ำอโยธยา


ร้านขายอาหารในเรือ


อีกทั้งรอบๆคูคลองก็มีระเบียงริมน้ำให้นั่งพักเหนื่อย คุณจะได้สัมผัสความเย็นสบายของน้ำในคลอง แถมยังอิ่มท้องกับบรรดาของกินที่มีมากมายอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ผัดไทย, ทอดมัน, ก๋วยเตี๋ยว, ข้าว+น้ำพริกปลาทู, กระหรี่พัฟ, ส้มตำรสเด็ด, ขนมครกไข่นกกระทา, ถุงทอง, หมูระเบิด, ไก่ระเบิด, หอยครกกระทะร้อน, ยำต่าง ๆ, หมูย่าง, หมูสเต๊ะ, ขนมไทยนานาชนิด และเครื่องดื่มสมุนไพรดับกระหาย ฯลฯ แถมยังบรรจุอยู่ในกระทงใบตองบ้าง เข่งปลาทูบ้าง เรียกได้ว่าเชิญชวนให้ชิมกันเต็มที่ นอกจากนี้ ยังมีสินค้าดีไซน์แปลก ๆ ที่หาซื้อไม่ได้ง่าย ๆ เพราะส่วนใหญ่จะขายไอเดีย เป็นประเภทงานแฮนด์เมคต่าง ๆ โดยจะมีพ่อค้าแม่ขายแต่งกายย้อนยุค นุ่งผ้าซิ่น คาดผ้าขาวม้า ใส่เสื้อม่อฮ่อม คอยต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างอบอุ่นเป็นกันเอง

ชื่อร้านค้าที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละร้านภายในตลาดน้ำอโยธยา

จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของ ตลาดน้ำอโยธยา ก็คือการแสดงที่ลานการแสดงกรุงศรีอยุธยา โดยทำการแสดงเวลาประมาณ 11.00 น. และ 13.00 น. และมีให้ชมกันทุกวัน เป็นการแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของเอกลักษณ์ไทยได้อย่างงดงามทีเดียว


นอกจากนั้น ถ้าใครอยากออกไปสัมผัสบรรยากาศ ก็สามารถใช้บริการนั่งช้างลุยน้ำ เข้าป่า ชมนก ชมทัศนียภาพ ชมโบราณสถาน หรือไปไหว้พระวัดมเหยงคณ์และวัดช้าง และยังมีบริการนั่งเกวียนเทียมวัวชมโบราณสถานที่อยู่รอบ ๆ และไปชมการแสดงโชว์งูซึ่งจัดแสดงเวลา 08.00-17.00น. อีกด้วย


ผู้ที่สนใจสามารถไปเยี่ยมชมตลาดน้ำอโยธยาได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-3588-1678 โทรสาร 0-35881699


ข้อมูลจาก:

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B8_%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%98%E0%B8%A2%E0%B8%B2

http://www.ayutthayafloatingmarket.com/web/page.php?id=2&langsel=th

http://www.holidaythai.com/