วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2553

บทที่8 ธุรกิจอื่นๆและองค์ประกอบเสริมในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

การดำเนินธุรกิจให้บริการแก่นักท่องเที่ยว นอกจากจะตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวอันจะทำให้เกิดความพึงพอใจแก่นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการยังได้รับผลกำไรจากการประกอบการธุรกิจเป็นสิ่งตอบแทน นอกจากนี้ บางโอกาส ธุรกิจท่องเที่ยวเองกอาจเป็นสิ่งดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวได้
นอกจากธุรกิจหลักซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดำเนินธุรกิจการท่องเที่ยวแล้ว ยังมีธุรกิจอื่นๆดำเนินการเพื่อตอบสนองความต้องการบริการด้านต่างๆแก่นักท่องเที่ยว เช่น การบริการด้านอาหารเครื่องดื่ม สถานบันเทิง ร้านขายของที่ระลึก ศูนย์ข้อมูลข่าวสารการท่องเที่ยวและอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแหล่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้โดปกติเอกชนจะเป็นผู้จัดสร้างและดำเนินการในรูปแบบของผู้ประกอบการ แต่ก็มีบางแห่งที่รัฐบาลให้การสนับสนุนดำเนินการ
นอกจากธุรกิจขนส่ง ธุรกิจที่พักแรม และธุรกิจบริการจัดนำเที่ยว ถือว่าเป็นธุรกิจหลักในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแล้ว ยังมีธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจบริการอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจจำหน่ายสินค้าและธุรกิจจำหน่ายินค้าที่ระลึก ธุรกิจนันทนาการ ตลอดจนธุรกิจเสริม ได้แก่ ศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารและการตลาด รวมถึง การบริการด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวในด้านต่างๆอีกด้วย
ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม
Food and Beverage

หมายถึง การประกอบกิจการให้การให้บริการอาหารและเครื่องดื่มแก่คนเดินทาง นักท่องเที่ยวหรือประชาชนทั่วไป โดยจัดเตรียมที่นั่งให้ผู้บริโภคได้รับประทานภายในสถานที่ที่ให้บริการ หรืออาจให้บริการบรรจุอาหารเพื่อให้ผู้บริโภคนำรับประทานที่อื่นได้

ความเป็นมา
-สมัยกรีก-โรมัน มีการขายอาหารในระหว่างการเดินทางไปประกอบกิจกรรมทางศาสนาและการค้า ในสมัยโรมัน มีการเปิดร้านอาหารแบบ Snack Bars ( ที่มาของธุรกิจอาหารจานด่วน –Fast Food)
-ยุคกลาง จำนวนร้านอาหารมีเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่มีคุณภาพ
-ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ เกิดแนวคิดเรื่องธุรกิจที่พักอย่างจริงจัง ทำให้การบริการอาหารมีผลกระทบไปด้วย ในศตวรรษที่ 16 มีการนำเข้าชาและกาแฟ ทำให้เกิดห้องดื่มกาแฟ ( Coffee House) และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในยุโรป
-ค.ศ. 1765 เกิดธุรกิจอาหารแบบภัตตาคารที่ฝรั่งเศส โดยนายบลูลองเจอร์ (Monsieur Boulanger) เปิดร้านขายซุป ที่ชื่อว่า Restorantes ซึ่งต่อมากลายเป็นที่มาของคำว่า ภัตตาคาร (Restaurant) ซึ่งเน้นการบริการอาหารประเภทกับแกล้มหรืออาหารเบาๆ (Light or Restoring Dishes)
-ค.ศ. 1782 มีภัตตาคารที่แท้จริงชื่อว่า Grande Taverne de Londres ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส
-ในอเมริกา มีภัตตาคารแห่งแรกชื่อ Delmonico และร้านอาหารราคาถูก( Eating House) ในนิวยอร์ค ในปี ค.ศ. 1827 และ 1848 ตามลำดับ
-ธุรกิจร้านอาหารในยุคหลังๆ มีความหลากหลายมากขึ้นทั้งรูปแบบและประเภทของอาหาร อาทิเช่น McDonald ที่ก่อตั้งเมื่อปี 1948


ประเทศไทย
-ยุคแรก เนื่องจากคนไทยนิยมประกอบอาหารไว้รับประทานเองในครัวเรือน ไม่นิยมรับประทานอาหารนอกบ้าน แต่สำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร จะมีชุมชนอยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง และมีการค้าขายอาหาร ขนมหวานกันภายในชุมชน ดังที่ปรากฏในคำให้การขุนหลวงหาวัด โดยเฉพาะในชุมชน จีน แขก สำหรับเครื่องดื่มมึนเมาต่างๆ ก็ได้รับการนำเข้ามาจากตะวันตกเพื่อส่งให้ยังราชสำนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยอยุธยาตอนกลาง
-ยุคสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ร้านอาหารที่เปิดส่วนใหญ่เป็นของชาวจีนที่เปิดในย่านสำเพ็งให้บริการแก่ชาวจีนและประชาชนทั่วไป
-สมัยรัชกาลที่ 4-ปัจจุบัน ประชาชนมีอิสระจากการเลิกระบบทาสและไพร่ ผู้คนมีอิสระในการดำเนินชีวิต ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มยุคนั้นดำเนินควบคู่ไปกับโรงแรม ปัจจุบันธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มได้เกิดขึ้นโดยทั่วไป


ประเภทของธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม
ธุรกิจอาหารจานด่วน ( Fast-Food Restaurants )
-เน้นความสะดวก รวดเร็ว ราคาต่ำไม่บริการเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์เปิดบริการทุกวัน ไม่จำเพาะเจาะจงแต่ร้านที่ดำเนินการแบบการรับรองสิทธิ(Franchising) แต่หมายรวมถึงอาหารตามเชื้อชาติอื่นๆ ที่บริการในรูปอาหารจานเดียว


ธุรกิจอาหารสำเร็จรูป (Deli Shops)
-เป็นการบริการอาหารสำเร็จรูปที่แช่แข็ง เนย แซนวิช สลัด และอื่นๆ ที่นั่งในร้านมีจำกัดและระยะเวลาเปิดไม่ยาวนัก มักตั้งอยู่ในทำเลที่ผู้คนหนาแน่น


ธุรกิจอาหารบุฟเฟต์ (Buffets)
-เป็นธุรกิจที่ให้ลูกค้าบริการตนเอง ลูกค้าสามารถตักอาหารได้ทุกประเภท ในปริมาณที่ไม่จำกัด “All you can eat” ในราคาเดียว/หัว ยกเว้นแต่เครื่องดื่มที่จะบริการให้ที่โต๊ะ ธุรกิจประเภทนี้ได้รับความนิยมในโรงแรม โดยเฉพาะการจัดบริการอาหารในมื้อเที่ยง และค่ำ สำหรับลูกค้าภายในและภายนอก


ธุรกิจประเภทคอฟฟี่ช้อพ (Coffee Shops)
-เน้นการบริการที่รวดเร็ว การให้บริการอาหารจะอยู่ที่เคาน์เตอร์บริการ ราคาไม่แพงมาก มักจะตั้งอยู่ในสถานที่ชุมชน อาคารกึ่งสำนักงาน หรือศูนย์การค้า ที่มีคนผ่านไปมาจำนวนมาก


ธุรกิจคาเฟทีเรีย (Cafeterias)
- เป็นธุรกิจที่ลูกค้าต้องบริการตนเอง รายการอาหารมีจำกัด เน้นความรวดเร็ว สถานที่ให้บริการกว้างขวางเพื่อรองรับลูกค้าจำนวนมากในช่วงเวลาเร่งด่วน



ธุรกิจร้านอาหารกูร์เมต์ (Gourmet Restaurants)
-เป็นธุรกิจที่เน้นบริการในระดับสูงในทุก ๆ ด้าน เน้นกลุ่มลูกค้าที่ต้องการการบริการระดับสูง เป็นธุรกิจที่ใช้ทุนค่อนข้างมากเพื่อรักษาชื่อเสียง และรักษารวมทั้งดึงดูดกลุ่มลูกค้า

ธุรกิจอาหารเฉพาะกลุ่มเชื้อชาติ(Ethic Restaurants)
-เน้นการให้บริการอาหารประจำท้องถิ่น หรือประจำชาติ พนักงาน การตกแต่งร้านก็มีลักษณะเน้นจุดเด่นลักษณะประจำชาติเช่นเดียวกัน

อาหารไทย ( Thai Food)


จะมีรสชาติผสมผสาน มีทั้งเปรี้ยว หวาน เค็ม เครื่องเทศต่างๆ มักใช้กะทิเป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหาร แบ่งออกเป็น
1. อาหารที่ได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศ เช่น เครื่องแกง เครื่องเทศ จากอินเดีย การผัดโดยใช้น้ำมันมาจากประเทศจีน ของหวานจำพวก ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง มาจากโปรตุเกส เป็นต้น
2. อาหารที่ต้องใช้ความประณีตในการประดิษฐ์ อาทิเช่น การแกะสลักผักผลไม้ ขนมช่อม่วง ลูกชุบ ข้าวแช่
3. อาหารที่มีเครื่องเคียงของแนม อาทิ น้ำพริกต่างๆ น้ำปลาหวานสะเดา
4. อาหารว่างและขนม อาทิ กระทงทอง บัวลอย ขนมลืมกลืน ขนมขี้หนู ข้าวตังหน้าตั้ง ขนมสอดไส้ เป็นต้น

ภาคเหนือ


เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์และภูมิอากาศ ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณธรรมชาติ มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม อาหารส่วนใหญ่จะยังคงใช้พืชตามป่าเขา หรือที่เพาะปลูกไว้มาปรุงอาหาร โดยมีแบบเฉพาะในการรับประทานเรียกว่า “ขันโตก” อาหารทางเหนือไม่นิยมใส่น้ำตาล เพราะความหวานจะได้จากพืชผักต่างๆ จากการต้ม การผัด อาหารภาคเหนือที่รู้จักกัน อาทิ น้ำพริกหนุ่มมีเครื่องแนมคือแคบหมู ขนมจีนน้ำเงี้ยว แกงฮังเล ไข่มดส้ม เป็นต้น

ภาคใต้


เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ติดทะเล อาหารหลักมักเป็นอาหารทะเล พวกกุ้ง หอย ปู ปลา ซึ่งโดยปกติจะมีกลิ่นคาว จึงมักใช้เครื่องเทศและขมิ้นเพื่อดับกลิ่น จึงมีรสเผ็ดร้อน เค็ม และเปรี้ยว แต่ไม่นิยมรสหวาน มีอาหารหลายประเภทที่นิยมรับประทานกับผักเพื่อลดความเผ็ดร้อน เรียกว่า “ผักเหนาะ” หรือ “ผักเกร็ด”
อาหารทางภาคใต้ที่นิยมรับประทาน ได้แก่ ข้าวยำปักษ์ใต้ แกงไตปลา แกงเหลือง เป็นต้น
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์และภูมิอากาศที่ร้อน ภูเขา ป่าไม้มีน้อย ดินเป็นดินร่วนปนทราย เก็บน้ำไม่ได้ดี แต่มีผักพื้นบ้านต่างๆ อาทิ ผักหูเสือ แคป่า ผักจิก นิยมเลี้ยงสัตว์ประเภทวัว ควาย ดังนั้นจึงนิยมบริโภคเนื้อสัตว์เหล่านี้ สัตว์อื่นๆ ที่มีในธรรมชาติก็นำมาประกอบอาหารเช่นกัน อาทิ มดแดง ตั๊กแตน แมงดานา โดยทั่วไปอาหารจะมีรสชาติเผ็ด เปรี้ยว เค็ม จึงมีการถนอมอาหารในรูปแบบต่างๆ อาทิ ปลาร้า เนื้อเค็ม เป็นต้น
อาหารที่เป็นที่นิยม อาทิ ส้มตำต่างๆ แกงอ่อม ต้มเปรอะ

การดำเนินงานด้านธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (Food and Beverage Service Operations)

การดำเนินงานด้านการบริการอาหารและเครื่องดื่มมีแนวโน้มที่จะดำเนินธุรกิจในรูปแบบกลุ่มธุรกิจ หรือการขอรับสิทธิในการดำเนินธุรกิจเพราะประสบความสำเร็จในระดับสูงอยู่แล้ว เนื่องจาก
-มีประเภทของอาหารไม่มาก ทำให้เกิดอำนาจในการต่อรองในการซื้อวัตถุดิบและมีการสูญเสียน้อย การควบคุมทำได้ทั่วถึง
- ต้นทุนในการดำเนินงานต่ำ
-ประสิทธิภาพในการดำเนินงานของพนักงานสูง เพราะมีการฝึกอบรมเป็นอย่างดี
-ภาชนะใส่อาหารมักเป็นแบบใช้ครั้งเดียว ลดภาระเรื่องการล้างทำความสะอาด
-มีความชำนาญด้านอาหารเป็นอย่างดี

สำหรับอาหารที่มีไว้บริการในโรงแรม ส่วนมากเป็นแบบตะวันตก แบ่งเป็นมื้อได้ดังนี้


อาหารเช้า Breakfast คืออาหารที่รับประทานช่วง 8.00-9.00 น.
-อาหารเช้าแบบยุโรป (European Breakfast) ประกอบด้วยน้ำผลไม้ ขนมปัง แยม หรือเนย กาแฟน ไม่มีเนื้อสัตว์และผลไม้
-อาหารเช้าแบบอเมริกัน (American Breakfast) ประกอบด้วย น้ำผลไม้ คอร์นแฟลก ขนมปัง ไข่ดาว แฮม เบคอน แล้วตามด้วย ชา กาแฟ

อาหารก่อนกลางวัน (Brunch) รับประทานช่วงเวลา 9.30-11.30 น. หนักกว่ามื้อเช้า
อาหารกลางวัน Lunch or Luncheon รับประทานในช่วง 11.30-14.00 น.เป็นอาหารที่ไม่หนักจนเกินไป ใช้เนื้อสัตว์ที่ย่อยง่าย เช่น ปลา หมู ผักต่างๆ อาจเป็นแบบ A La Carte คือรายการที่ลูกค้าสามารถสั่งได้ตามใจชอบจากรายการที่มี หรือ Table d’Hotel คือแบบรายการอาหารชุด แบ่งเป็น
-อาหารจานเดียว (One Course)
-อาหารกลางวันประเภทสองจาน (Two Courses)
-อาหารกลางวันประเภทสามจาน (Three Courses)
-อาหารกลางวันแบบบุฟเฟต์ (Buffet Lunch)

อาหารว่างหรืออาหารน้ำชา (Afternoon Tea) ปกติรับประทานเวลา 15.00-17.00 น. ชากาแฟ เค้ก หรือ ผลไม้
อาหารเย็น ( Dinner) เริ่มตั้งแต่เวลา 19.00 น. เป็นอาหารมื้อที่หนักที่สุดของวัน ประกอบด้วยอาหารชุดต่าง ๆ ดังนี้
-อาหารเรียกน้ำย่อย (Appetizer)
-ซุป (Soup)
-อาหารนำจานหลัก (Entress) ประเภทอาหารทะเล
-อาหารหลัก (Main Course) ได้แก่อาหารประเภท เนื้อสัตว์ แป้ง
-ของหวาน (Dessert)
-ชาหรือกาแฟ (Tea or Coffee)
อาหารมื้อดึก (Supper) เป็นอาหารเบาๆ ซึ่งรับประทานหลังมื้อเย็นหรือหลังอาหารหนัก
การจัดการและการตลาด (Management and Marketing)
เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยความชำนาญและประสบการณ์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าธุรกิจอื่นๆ ประกอบกับภาวการณ์แข่งขันมีค่อนข้างสูง ผู้ประกอบการต้องพยายามตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย โดยใช้หลักการตลาดและส่วนผสมทางการตลาดในทุกๆ ด้านดังนี้
1. ด้านผลิตภัณฑ์ (product) ต้องมุ่งเน้นที่คุณภาพของอาหารและบริการ ต้องมีคุณค่าทางโภชนาการและถูกหลักอนามัย
2. ด้านราคา (price) ต้องเป็นราคาที่เหมาะสมกับชนิดและประเภทของอาหาร โดยต้องคำนึงถึงคุณภาพ ต้นทุน การให้บริการ ต้องหมั่นสำรวจตลาด และคู่แข่งเสมอ
3. ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย (place) ต้องรู้ว่าจะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ด้วยวิธีใด อาทิสถานที่ตั้ง บริการส่งถึงที่ เป็นต้น
4. การส่งเสริมการขาย (promotion) ควรเลือกสื่อและโฆษณาที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด รวมทั้งการประสานงานกับบริษัทนำเที่ยว หรือตัวแทนการท่องเที่ยว สายการบิน องค์กรการท่องเที่ยวต่างๆ หรืออาจมีการรวมกลุ่มเป็นสมาคม อาทิ สมาคมภัตตาคาร (restaurant association)

ธุรกิจจำหน่ายสินค้าและสินค้าที่ระลึก Shopping and Souvenir Business

ธุรกิจจำหน่ายสินค้า คือ การประกอบธุรกิจขายปลีก เพื่อจำหน่ายสินค้าเฉพาะอย่างหรือหลายอย่างแก่ผู้บริโภค ซึ่งหมายถึงบุคคลทั่วไปรวมถึงนักท่องเที่ยว
ความเป็นมา
การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าในสมัยโบราณจะกระทำในรูปแบบของการแลกเปลี่ยนระหว่างของกับของ หรือที่เรียกว่า Barter System ต่อมาเมื่อมีการนำเอาใช้โลหะมีค่า มากำหนดค่าและใช้เป็นสื่อกลางของการซื้อขายแลกเปลี่ยน ระบบBarter System จึงค่อยๆ เลิกไป
สถานที่ที่เกิดกิจกรรมการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า
อาจมีพัฒนาการมาตั้งแต่การซื้อขายแลกเปลี่ยนเมื่อมีผู้ที่มีความต้องการสินค้า และผู้ที่สามารถสนองตอบต่อความต้องการนั้น อาจไม่จำกัดสถานที่ เมื่อมีทั้งผู้ต้องการสินค้า และผู้ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการนั้นมีเป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดบริเวณที่สามารถรวมเอาทั้งผู้ซื้อและผู้ขายเป็นจำนวนมากมาไว้ที่เดียว หรือ ตลาดเพื่อเป็นการประหยัดเวลาในการเลือกซื้อสินค้า
ห้างสรรพสินค้า เป็นรูปแบบของธุรกิจการจำหน่ายสินค้าขนาดใหญ่ที่พัฒนาขึ้นจากยุโรปก่อนแล้วค่อยแพร่ขยายเข้ามาสู่ อเมริกา และเอเชียในที่สุด เป็นพัฒนาการของการจำหน่ายสินค้าที่รวมมาอยู่ในบริเวณเดียว มีการจัดสินค้าเป็นแผนก เป็นหมวดหมู่ ง่ายต่อการค้นหาของลูกค้า มีการบริหารงานอย่างเป็นระบบ มีการส่งเสริมการขาย การบริการลูกค้า

ประเภทของธุรกิจจำหน่ายสินค้าและบริการ


ห้างสรรพสินค้า ( Department Store) หมายถึงกิจการขายปลีกขนาดใหญ่ที่รวมสินค้าหลายอย่างเข้ามาไว้ภายในบริเวณเดียวกัน โดยแยกตามแผนก เพื่อเป็นการประหยัดเวลาของลูกค้า มีการปรับเปลี่ยนสินค้าให้ทันสมัยและเหมาะสมตลอดเวลา หรือในบางครั้งห้างสรรพสินค้า อาจขายสินค้าไม่กี่ชนิด เพื่อเป็นการเน้นความเชี่ยวชาญ โดยส่วนมากห้างสรรพสินค้ามักตั้งอยู่ในแหล่งชุมชน
ห้างสรรพสินค้ายังมีบทบาทสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศ และได้ทำให้หลายๆ ประเทศพยายามพัฒนาภาพลักษณ์ให้เป็นสวรรค์ของการซื้อสินค้า ( Shopping Paradise)



ศูนย์การค้า (Shopping Centers/Malls) คือการขายปลีกขนาดใหญ่ที่รวมร้านขายปลีกรวมทั้งห้างสรรพสินค้าเข้ามาอยู่ในอาคารเดียวกัน ตลอดจนบริการที่จอดรถตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ อาทิ โรงภาพยนตร์ ธนาคาร ภัตตาคาร


ร้านค้าปลอดอากร (Duty-free shop)และร้านปลอดภาษี (Tax-free shop) เป็นร้านค้าปลีกที่ขายสินค้าให้แก่นักท่องเที่ยวระหว่างประเทศเท่านั้น โดยสินค้าในร้านปลอดอากรนั้น มักเป็นสินค้าปลอดอากรที่นำเข้าจากต่างประเทศราคาสูง แต่ขายถูก และสินค้าในร้านปลอดภาษีมักเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศ

ความสำคัญของธุรกิจจำหน่ายสินค้า
1.เป็นแหล่งกระจายสินค้าภายในประเทศออกไปยังต่างประเทศ ทั้งยังเป็นการช่วยเผยแพร่ชื่อเสียง หรือโฆษณาแหล่งท่องเที่ยว อาทิเช่น ผ้าไหม น้ำหอม เป็นต้น
2.กิจกรรมการซื้อสินค้าเป็นการสร้างความเพลิดเพลินให้แก่นักท่องเที่ยว
3.ช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมท้องถิ่น
4.ก่อให้เกิดการจ้างงานของคนในท้องถิ่น


ธุรกิจสินค้าที่ระลึก

คือ การประกอบธุรกิจและจำหน่ายสินค้าที่นักท่องเที่ยวซื้อและนำกลับไปยังภูมิลำเนาเดิมของตน เพื่อเป็นของระลึก ของฝาก หรือแม้แต่เพื่อใช้สอยในชีวิตประจำวัน สินค้าที่ระลึกมักถูกพัฒนาจากศิลปหัตถกรรมของแต่ละท้องถิ่น ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ ความเป็นอยู่ โดยใช้วัสดุของท้องถิ่นในการผลิตและใช้แรงงานภายในท้องถิ่น


ลักษณะสำคัญของสินค้าที่ระลึก
- เป็นสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นนั้นๆ เมื่อเอ่ยถึงทุกคนสามารถเดาที่มาได้
- เป็นสินค้าที่หายากและราคาแพง มีแหล่งผลิตเฉพาะที่
- เป็นสินค้าที่มีราคาถูกกว่าภูมิลำเนาของนักท่องเที่ยว
- เป็นสินค้าที่ออกแบบผลิตภัณฑ์แปลกและมีประโยชน์ใช้สอย
- เป็นสินค้าที่มีรูปร่าง ขนาด น้ำหนัก เหมาะสมต่อการขนส่ง ไม่เปราะบางหรือชำรุดง่าย
- เป็นสินค้าที่ใช้วัสดุและแรงงานในท้องถิ่น เป็นสินค้าที่นำวัสดุเหลือใช้ไร้ค่ามาแปรรูป
- เป็นสินค้าที่มีการแสดงขั้นตอนการผลิตให้นักท่องเที่ยวเห็นหรือทดลองทำ
- เป็นสินค้าที่ควรหาซื้อได้ง่าย

ประเภทของธุรกิจจำหน่ายสินค้าที่ระลึกของไทย

แบ่งจากจุดประสงค์ในการสร้าง ไม่ว่าจะเป็นจุดประสงค์ที่ต้องการใช้สอยเอง หรือเพื่อพิธีกรรมทางศาสนา ความเชื่อ หรือเพื่อจัดจำหน่าย ทำให้ผลผลิตมีรูปลักษณะที่แตกต่างกันสามลักษณะได้แก่
- รูปลักษณะที่สร้างขึ้นตามประเพณีนิยม
- รูปลักษณะที่สร้างขึ้นตามสมัยนิยม
- รูปลักษณะที่สร้างขึ้นเฉพาะ

แบ่งจากวัสดุและเทคนิควิธีการสร้าง มีสามลักษณะได้แก่
- สร้างหรือดัดแปลงจากวัสดุธรรมชาติ - สร้างจากวัสดุสังเคราะห์
- สร้างจากเศษวัสดุ

แบ่งจากรูปลักษณะที่ปรากฏ มีหกลักษณะได้แก่
- รูปลักษณะตัวอักษร
- รูปลักษณะทรงเรขาคณิต
- รูปลักษณะตามลัทธิและความเชื่อ
- รูปลักษณะธรรมชาติ
- รูปลักษณะผลผลิตและเครื่องมือเครื่องใช้
- รูปลักษณะอิสระ

แบ่งตามคุณค่าแห่งการนำไปใช้
- ประเภทบริโภค - ประเภทประดับตกแต่ง
- ประเภทใช้สอย - ประเภทวัตถุทางศิลปะ

ความสำคัญของธุรกิจจำหน่ายสินค้าที่ระลึก

ทางสังคมและวัฒนธรรม
-สร้างอาชีพใหม่ๆ ให้กับคนในสังคม และการใช้เวลาว่างของประชาชนให้เกิดคุณประโยชน์
-ลดปัญหาสังคม และลดปัญหาการย้ายถิ่นฐาน
-การรู้จักอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่น และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

ทางเศรษฐกิจ
-สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและประเทศ
-สร้างชื่อเสียงหรือเอกลักษณ์ของประเทศไปสู่โลก

ทางระบบการท่องเที่ยว
-ทำให้เกิดความสมบูรณ์ทางการท่องเที่ยว เป็นการเพิ่มความสุนทรีย์ ในการท่องเที่ยว ทำให้เกิดการกลับมาเที่ยวอีกครั้งหนึ่ง
-ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความภูมิใจ หรือเป็นการสร้างการยอมรับทางสังคม เป็นการแสดงออกถึงฐานะทางเศรษฐกิจ

ธุรกิจนันทนาการ (Recreation Business)
หมายถึง การประกอบธุรกิจการให้บริการเพื่อความบันเทิงและเพลิดเพลินสำหรับคนเดินทางหรือนักท่องเที่ยว
ธุรกิจนันทนาการประกอบด้วย


ธุรกิจสวนสนุก แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
- สวนสนุก (Amusement Park) เป็นสถานที่ที่สร้างเพื่อให้บริการด้านความบันเทิง สนุกสนานเพลิดเพลิน ประกอบด้วย เครื่องเล่นเกม การละเล่นต่างๆ ของคนในท้องถิ่น และนักท่องเที่ยว
- สวนสนุกรูปแบบเฉพาะ (Theme Park) เป็นสวนสนุกที่มีสิ่งดึงดูดใจและมีแนวคิดทางการตลาดที่มุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน

ธุรกิจบันเทิง เพื่อการท่องเที่ยว หมายถึง สถานบันเทิงยามค่ำคืนและการจัดการแสดงบนเวที (Performing art)
ธุรกิจการกีฬาเพื่อการท่องเที่ยว
ธุรกิจกีฬาปกติ เป็นการจัดให้บริการสถานที่ที่นักท่องเที่ยวสามารถเล่นกีฬาได้ตามแหล่งท่องเที่ยว
ธุรกิจกีฬาตามเทศกาล เป็นการประกอบธุรกิจการจัดแข่งขันกีฬาตามเทศกาล

ที่มาจาก :
- หนังสือเอกสารคำสอนวิชาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ม. ธุรกิจบัณฑิตย์
- Power Point อ. พิทยะ ศรีวัฒนสาร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น